วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ลอกหน้า ลอกผิว ต้องระวังอะไร






ลอกหน้า ลอกผิว ต้องระวังอะไร (หมอชาวบ้าน)

         หลายคนคงคุ้นเคยกับการไปลอกหน้า...ลอกผิวมาแล้ว แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบว่า วิธีนี้ทำอย่างไร มีข้อควรระวังและข้อแทรกซ้อนอย่างไรบ้าง

         ที่ว่าลอกหน้าลอกผิวนั้น ความหมายในที่นี้คือการลอกผิวด้วยสารเคมี ก่อนลอกหน้าแพทย์จะประเมินดูลักษณะผิวเหี่ยวแก่จากแสงแดด และลักษณะสีผิว เลือกสารเคมีให้เหมาะสมกับสภาพผิว เช็ดไขมันที่ผิวหนังออกด้วยอะซีโทน อาจต้องป้องกันบริเวณที่ผิวบอบบาง เช่น ที่ริมฝีปาก ในรูจมูก ร่องแก้ม ขอบตา ด้วยการทาขี้ผึ้ง

ข้อบ่งชี้ของการลอกด้วยสารเคมี

         การลอกด้วยสารเคมีใช้รักษาโรคเนื้องอกของผิวหนังขั้นก่อนเป็นมะเร็ง (actinic keratosis) ผิวเหี่ยวแก่จากแสงแดด ภาวะสีผิวไม่สม่ำเสมอ แผลเป็นชนิดตื้น ผิวหนังอักเสบจากการฉายรังสี และสิว ใช้การลอกชนิดตื้นรักษาฝ้าซึ่งเป็นความผิดปกติของหนังกำพร้าส่วนบน เมื่อใช้ยาทารักษาฝ้าซึ่งยับยั้งการผลิตเม็ดสีแล้ว การลอกหน้าทำให้เซลล์ผิวหนังหลุดลอกออกไปเร็วขึ้น

         มีรายงานแสดงว่า การรักษาฝ้าด้วยการลอกหน้าชนิดตื้น ร่วมกับการใช้ยาทาฟอกสีมีประสิทธิภาพ และ ปลอดภัย ส่วนรอยโรคที่ลึกกว่านี้ เช่น รอยเหี่ยวย่นชนิดลึก หรือรอยย่นรอบปากที่เป็นมาก ต้องลอกหน้าชนิดลึก

         ส่วนรอยโรคที่ลึกปานกลาง (คืออยู่ในชั้นหนังแท้ส่วนบน) เช่น ผิวเหี่ยวแก่ที่เป็นน้อย ต้องการการลอกชนิดลึกปานกลาง

สารเคมีที่ใช้ลอกผิวหนัง

         สารเคมีที่ใช้ลอกผิวหนังชนิดตื้น เช่น กรดไทรคลอโรอะเซติก ความเข้มข้นร้อยละ 10-35 น้ำยาเจสเนอร์ กรดซาลิไซลิก ความเข้มข้นร้อยละ 20-30 และกรดอัลฟาไฮดรอกซี ความเข้มข้นร้อยละ 10-70

         สารเคมีที่ใช้ลอกผิวหนัง ชนิดปานกลาง นิยมใช้กรดไกลคอลิก และกรดไทรคลอโรอะเซติก ความเข้มข้นร้อยละ 35 น้ำยาเจสเนอร์ และกรดไทรคลอโรอะเซติก ความเข้มข้นร้อยละ 35

ข้อควรระวังก่อนลอกหน้าด้วยสารเคมี

         ก่อนลอกหน้าแพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายดังนี้

         1. ประเมินลักษณะผิวเหี่ยวแก่จากแสงแดด ผู้ป่วยที่ยังมีสภาพผิวดี มีรอยเหี่ยวแก่จากแสงแดดน้อย มีการเปลี่ยนแปลงของสีผิวน้อย ไม่เหมาะจะลอกหน้าชนิดลึก เพราะก่อผลเสียมากกว่าประโยชน์ที่ได้ ถ้าจะลอกควรลอกชนิดตื้น ส่วนผู้ที่มีภาวะผิวแก่จากแสงแดดอย่างรุนแรง ผิวเหี่ยวย่นทั้งใบหน้าควรลอกชนิดลึก

         2. ประเมินลักษณะสีผิว ผู้ป่วยที่มีผิวสีน้ำตาลเข้มหรือผิวดำ ไม่เหมาะต่อการลอกหน้าชนิดปานกลางและชนิดลึก แต่อาจใช้การลอกหน้าชนิดตื้นได้

         3. ถ้ามีประวัติการผ่าตัดเสริมสวยใบหน้ามาก่อน ควรรอให้แผลหายสนิทจึงลอกหน้า และต้องระวังในผู้ที่เกิดแผลเป็นคีลอยด์ง่าย

         4. ในการลอกหน้าชนิดลึกด้วยฟีนอล ต้องระวังเพราะเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติได้ แพทย์จะตรวจการทำงานของตับ ไต สุขภาพทั่วไปก่อนลอก และตรวจคลื่นหัวใจระหว่างการลอก

         5. ผู้ที่จะลอกหน้าต้องมีสุขภาพจิตดี

         6. ประวัติการใช้ยา ผู้ที่กินยาคุมกำเนิดไม่ควรลอกหน้า เพราะยาคุมทำให้เป็นฝ้าอยู่แล้ว จะยิ่งทำให้รอยคล้ำหลังลอกเข้มมากกว่าปกติ ส่วนผู้ที่กินยาต้านการเกิดลิ่มเลือด ไม่ควรลอกหน้าชนิดลึกเพราะมีเลือดไหล ซึมจากผิวที่ลอกได้

         7. ผู้ที่เคยเป็นเริมที่ใบหน้า แพทย์อาจให้ยาต้านไวรัสเริม 2 วันก่อนลอก และให้ต่ออีก 5 วันหลังลอก เพื่อลดการกำเริบของเริม

         8. ต้องระวังการลอกหน้าในผู้ที่กินยากรดวิตามินเอ อาจต้องหยุดยาครบ 6 เดือนจึงลอก นอกจากนั้นก็ต้องระวังผู้ที่ฉายรังสีมาก่อน เพราะทั้ง 2 กรณีนี้ทำให้มีรูขุมขนน้อยลง ทำให้กระบวนการสร้างผิวใหม่ที่เกิดจากรูขุมขนเป็นไปได้ยาก

ผลแทรกซ้อน

         การลอกด้วยสารเคมีทำให้เกิดผลแทรกซ้อนหลายอย่าง ได้แก่ ผิวเปลี่ยนสี รอยดำรอยไหม้ แผลเป็น การติดเชื้อแบคทีเรีย การกำเริบของเริม และผิวแดง มักจางหายไปใน 30- 90 วัน

         ถ้าเป็นมากแพทย์อาจให้ยาทาสเตียรอยด์ อย่างอ่อน เช่น ไฮโดรคอร์ติโซน ในบางรายมีสิวเห่อหลังลอกหน้า มักเกิดในวันที่ 3-9 หลังลอก และอาจเกิดซีสต์ตุ่มขาวขนาดเล็ก (milia)

         หลังลอกหน้าต้องหลีกเลี่ยงแสงแดด ทายากันแดด ถ้าผิวลอกเป็นขุยมากอาจทาครีมให้ความชุ่มชื้น ถ้ามีการติดเชื้อหรือการกำเริบของเริม ให้รีบกลับมาพบแพทย์




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น